top of page

อริยสัจ ๔ 

อริยสัจ 4

 

                    พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่บังเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ในโลกนี้  ให้หลุดพ้นจากความทุกข์  เพราะมนุษย์ต้องอยู่เป็นกลุ่มในสังคมที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรือง  เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีพ   แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความไม่สงบขาดความมั่นคงด้าน

จิตใจ  ขาดหลักที่พึ่งทางใจทำให้มีปัญหาต่อการดำรงชีวิตของตนเองและส่วนรวม

                    หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมุ่งที่สอนให้มนุษย์มีหลักที่พึ่งทางใจ  และมีแนวทางการประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิต  อันจะทำให้มนุษย์สามารถอยู่รวมกันในสังคมด้วยความสงบสุขและเจริญก้าวหน้า

 

พุทธธรรมเพื่อชีวิตและสังคม

            

                    พุทธธรรมเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิตธรรมทุกข้อหากปฏิบัติตามอย่างจริงจังจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างมากทั้งสิ้น พุทธธรรมนั้นสอนทั้งการดำเนินชีวิตที่จะทำให้ชีวิตตนมีค่าหรือเป็นชีวิตที่ประเสริฐ  ชีวิตที่อยู่กับความเจริญและคุณธรรมและสอนการดำเนินชีวิตให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี สงบ และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม

                    หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีเป็นจำนวนมาก  หลักธรรมที่จัดว่าเป็นแม่บทของพุทธธรรมทั้งหมดได้แก่  อริยสัจ ๔ ซึ่งจะช่วยให้เรามีความเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ  และรู้จักชีวิตของตนเองอย่างแท้จริง

 

     ๑.  อริยสัจ ๔ :  ความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่าง

            อริยสัจ แปลว่า  “ความจริงอันประเสริฐ  หรือความจริงของพระอริยบุคคล”  หมายความว่า ถ้าผู้ใดสามารถรู้ อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา  ผู้นั้นก็จะเป็นพระอริยบุคคลและที่ทำให้เป็นผู้ประเสริฐนั้นก็เพราะในขณะที่รู้ อริยสัจ ๔  กิเลสทั้งหลายก็ถูกทำลายหายไปจากจิตของผู้นั้นด้วย คือ จิตจะมีสภาพใสสะอาด บริสุทธิ์ พ้นจากสภาพสามัญชนกลายเป็นพระอริยบุคคล  หรือเป็นบุคคลที่ประเสริฐอริยสัจดังกล่าวนี้ เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นผู้ค้นพบหรือได้ตรัสรู้เป็นบุคคลแรกในโลกจึงทำให้พระองค์กลายเป็นพระพุทธเจ้า  หรือเป็นบุคคลผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

             อริยสัจ ๔  จัดเป็นหมวดธรรมที่สำคัญมากของพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นที่สรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมด หมายความว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ คือ พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกนั้น ก็จะสรุปรวมลงในอริยสัจ ๔ ทั้งสิ้น

            ความหมายของอริยสัจ ๔ แต่ละข้อ เพื่อจำง่ายจึงเป็นตารางได้ดังนี้      

อริยสัจ ๔

 

คำแปล

คำขยายความ

 

                  ๑.  ทุกข์     ความไม่สบายกายไม่สบายใจ

                  ๒.  สมุทัย   เหตุให้ทุกข์เกิด

                  ๓.  นิโรธ    ความดับทุกข์

                  ๔.  มรรค    ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 

ที่จัดว่าเป็นทุกข์เพราะมีลักษณะเบียดเบียน บีบคั้น ทนได้ยาก

ได้แก่ ตัณหาความอยาก  ๓ อย่าง

ได้แก่ การดับตัณหาให้สิ้นไป

ได้แก่  มรรค  ๘ ประการ

 

 

            ๑.๑  ทุกข์  :  ความทุกข์

 

                  ทุกข์ คือ สิ่งที่เบียดเบียนบีบคั้นทำให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ อันเกิดจากร่างกายหรือจิตใจ ถูกเบียดเบียนแล้ว ทนได้ยาก  หรือทนไม่ได้ จึงทำให้เกิดเป็นทุกข์ ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อนักเรียนเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัว ปวดฟัน ปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ได้ ทนไม่ไหว จึงเกิดเป็นทุกข์ทางกาย

 

                  ในบางครั้ง นักเรียนเกิดอารมณ์เศร้า หดหู่ หรือเกิดอาการกระวนกระวายใจ  เพราะถูกด่าบ้าง เพราะผิดหวังที่ทำอะไรไม่ได้ตามใจบ้าง  จึงเกิดเป็นทุกข์ทางใจ

 

                  ความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจทั้ง ๒ ประการนี้  จัดเป็นความทุกข์ขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นประจำวัน  ซึ่งทุกคนต่างก็รู้จักดีและเคยประสบกันมาแล้ว  แต่ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบในทุกข์อริยสัจนั้น  ยังมีความหมายกว้าง ครอบคลุมไปถึงลักษณะไม่คงที่  มีความแปรปรวนในสิ่งที่ทั้งปวงด้วย  ซึ่งท่านได้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

 

                  ๑.  สภาวทุกข์  คือ ทุกข์ประจำสภาวะ หมายถึง ความทุกข์ที่มีประจำอยู่ในสภาพร่างกายของคนเรา เริ่มตั้งแต่เกิดมามีชีวิต จนถึงตาย ซึ่งมีอยู่ ๓ อย่าง ดังนี้ คือ

 

                        ๑.๑  ชาติทุกข์ แปลว่า “ความเกิดเป็นทุกข์”  หมายถึง  การทนทุกข์ทรมานตั้งแต่อยู่ในครรภ์

จนถึงคลอด  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  การเกิดมามีชีวิตได้นั้น ต้องผ่านอันตรายมาได้โดยยากจึงจัดว่าเป็นทุกข์เพราะการเกิด

 

                        ๑.๒  ชราทุกข์  แปลว่า  “ความแก่ชราเป็นทุกข์”  หมายถึง สภาพร่างกายแก่ชราคร่ำครวญทรุดโทรม  แม้จะนั่งจะนอน จะเดินไปมาก็ลำบาก  จึงจัดว่าเป็นความทุกข์เพราะความแก่ชรา

 

                        ๑.๓  มรณทุกข์  แปลว่า  “ทุกข์คือความตาย”  หมายถึง ความตายนั้นเป็นสิ่งที่มาทำลายชีวิตหรือตัดรอนชีวิตของเราให้สิ้นไป  จึงจัดเป็นความทุกข์เพราะความตาย

 

                  ๒.  ปกิณณกทุกข์  แปลว่า  “ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ”  หมายถึง  ความทุกข์ที่จรมาจากที่อื่นโดยเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมของชีวิต  มีน้อยบ้างมากบ้าง ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งมีอยู่ถึง ๘ อย่าง คือ

 

                        ๒.๑  โสกะ   ความเศร้าใจ ความเสียใจ

                        ๒.๒  ปริเทวะ  ความรำพึงรำพรรณบ่นท้อ 

                        ๒.๓  ทุกขะ   ความไม่สบายกายเพราะเจ็บป่วย

                        ๒.๔  โทมนัสสะ  ความน้อยใจ ความไม่สบายใจ

                        ๒.๕  อุปายาสะ  ความคับใจ ความตรอมใจ

                        ๒.๖  อัปปิยสัมปโยคะ  ประสบสิ่งไม่เป็นที่รักแล้วไม่ชอบใจ

                        ๒.๗  ปิยวิปปโยคะ  ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก

                        ๒.๘  อิจฉตาลาภะ  ความผิดหวังไม่ได้สิ่งที่ตนอยากได้

 

                  อาการทั้งหมดนี้จัดเป็นทุกข์  ความเดือดร้อน  ซึ่งเกิดขึ้นแก่ทุกคน  ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่  และเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกโอกาส การที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ชาวพุทธได้รู้จักกับตัวความทุกข์เหล่านั้น มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงสอนให้เรามองโลกในแง่ร้าย  แต่ทรงสั่งสอนให้มองโลกตามความเป็นจริง คือ ให้รู้จักกับความเป็นจริงของโลก เพื่อประสงค์จะให้ชาวพุทธไม่ประมาทพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริงนั้น  และสามารถที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตของตนได้ทุกโอกาส

 

            ๑.๒  สมุทัย  :  เหตุให้ทุกข์เกิด

 

                  สมุทัย  แปลว่า “เหตุให้ทุกข์เกิด”  หมายความว่า  ความทุกข์ทั้งหมดในอริยสัจข้อที่  ๑  เหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ  จะต้องมีสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น  พระพุทธองค์นอกจากจะทรงรู้จักตัวความทุกข์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว  ยังทรงรู้สึกถึงสาเหตุอันแท้จริงที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นด้วยโดยพระพุทธองค์ทรงชี้ว่า ตัณหา คือความอยากเกินพอดีที่มีอยู่ในจิตใจนั่นเอง  เป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกข์ ตัณหา นั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ

                  ๑.  กามตัณหา  คือ ความอยากได้อย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น ตาเห็นรูปสวยงาม ก็เกิดความอยากได้  อยากได้บ้านสวยๆ ราคาแพง อยากได้เสื้อผ้าสวยๆ อยากได้รถยนต์คันงาม เป็นต้น ความอยากทำนองนี้เป็นความอยากในสิ่งที่รักใคร่  และน่าพอใจ เป็นความอยากที่ไม่รู้จบ  เมื่อไม่ได้ตามความประสงค์ก็จะเกิดทุกข์

 

                  ๒.  ภวตัณหา  คือ  ความยากเป็นอย่างโน้นอย่างนี้  เป็นความอยากได้ในตำแหน่งฐานะที่สูงขึ้นตามที่ตนรักใคร่และพอใจ เช่น อยากเป็นข้าราชการในตำแหน่งสูงๆ  อยากเป็นมหาเศรษฐีและอยากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นต้น  เมื่อไม่ได้ดังใจปรารถนาก็เป็นทุกข์

 

                  ๓.  วิภวตัณหา  คือ ความอยากไม่เป็นความอยากไม่มี  จัดเป็นความอยากที่ประกอบกับความเบื่อหน่ายในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  โดยต้องการจะหลีกหนีให้พ้นจากสภาพนั้นไป เช่น อยากไม่เป็นคนโง่ อยากไม่เป็นคนพิการ และอยากไม่เป็นคนยากจน เป็นต้น ซึ่งความอยากไม่เป็นนี้  ถ้าไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการแล้วก็จะทำให้เกิดทุกข์ เช่นเดียวกัน

 

                  ตัณหา คือ ความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าอยากจนเกินพอดี คือ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ ควรหรือไม่ควร เป็นต้น ย่อมทำให้เกิดเป็นทุกข์ทั้งสิ้น

 

            ๑.๓  นิโรธ  :  ความดับทุกข์

                  นิโรธ  แปลว่า  “ความดับทุกข์”  หมายถึง ความรู้หรือปัญญาที่ทำให้จิตใจของบุคคลสามารถละตัณหาได้  หรือสามารถทำลายตัณหาให้หมดไปจากจิตใจและจิตที่บรรลุนิโรธแล้ว  จะมีลักษณะสงัดจากกิเลส ไม่ยึดมั่นในตัวตน  รวมไปถึงไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงอีกด้วย  คงเหลือแต่ธรรมชาติของความสงบสุขอย่างยิ่ง  ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกสภาวะอย่างนี้ว่า  “นิพพาน

            ๑.๔  มรรค  :  ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

                  มรรค  แปลว่า  “ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์”  หมายถึง  อริยมรรค  หรือทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือ

                  ๑.  ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)  หมายถึง  การรู้เห็นในอริยสัจ ๔  อย่างถูกต้อง  ชัดเจนด้วยปัญญา เช่นรู้ว่าทุกข์อย่างไร รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างไร รู้ว่าจะดับทุกข์ได้เพราะการดับตัณหา และรู้ว่าอริยมรรค คือทางให้ถึงการดับตัณหาได้

 

                  ๒.  ความดำริชอบ  (สัมมาสังกัปปะ)  หมายถึง ความคิดชอบ เช่น มีความคิดหาหนทางที่จะหลีกออกจากกาม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มีความคิดที่จะไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น  และไม่คิดทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น

 

                  ๓.  การพูดชอบ  (สัมมาวาจา)  หมายถึง เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียดเว้นจากการพูดคำหยาบ และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ

 

                  ๔.  การกระทำชอบ  (สัมมกัมมันตะ)  หมายถึง  เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

 

                  ๕.  การเลี้ยงชีวิตชอบ  (สัมมาอาชีวะ)  หมายถึง  มีความเพียรระวังไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม

 

                  ๖.  ควรเพียรชอบ  (สัมมาวายามะ)  หมายถึง  มีความเพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในตน เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป  พากเพียรทำความดีให้เกิดขึ้น  และเพียรพยายามรักษาความดีทีมีอยู่แล้วให้คงอยู่

 

                  ๗.  ความระลึกชอบ  (สัมมาสติ)  หมายถึง ความมีสติระลึกถึงความเป็นไปได้ของสภาพร่างกาย  ระลึกถึงความเป็นไปของเวทนา (ขณะมีอารมณ์)  ว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ระลึกถึงความเป็นไปของจิตว่าเศร้าหมองเพราะกิเลสชนิดใด  จิตที่ผ่องใสเพราะเหตุใด  รวมไปถึงการระลึกถึงความดี ความชั่ว หรือความไม่ดีไม่ชั่วที่เกิดขึ้นในจิตของตน

 

                  ๘.  การตั้งจิตให้ชอบ  (สัมมาสมาธิ)  หมายถึง การทำจิตให้เป็นสมาธิ  เริ่มตั้งแต่การทำจิตให้สงบชั่วขณะ  (ขณิกสมาธิ)  การทำจิตให้สงบเกือบจะแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ)  และทำจิตให้สงบในขั้นแน่วแน่  (อัปปนาสมธิ)  หรือขั้นเข้าฌานสมาบัติ

 

 

 

 

                                                               การ์ตูนเชิงอริยสัจ 4 

คลังความรู้

bottom of page