top of page

วิธีการเผยแผ่ตามแนวพุทธจริยา

พุทธจริยา  หมายถึง  พระจริยาวัตรหรือความประพฤติที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น  มี  3  ประการ  ดังนี้

 

1.     โลกัตถจริยา  พุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก

 

2.     ญาตัตถจริยา  พุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระประยูรญาติทั้งหลาย

 

3.     พุทธัตถจริยา  พุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้า

 

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามแนวพุทธจริยาจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาพระพจริยาวัตรทั้ง  3  ประการของ พระพุทธองค์เพื่อความเข้าใจแนวพระจริยาวัตรให้ถูกต้อง  ดังนี้

 

1.    โลกัตถจริยา  การที่พระองค์ทรงอนุเคราะห์ชาวโลกนั้นแสดงออกในพุทธกิจประจำวันนั่นเอง  ซึ่งเห็นได้ชัดว่า 

วันเวลาที่ผ่านไปแต่ละวันเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นทั้งนั้น  พระองค์แทบไม่มีเวลาพักผ่อนเลยแม้ประชวรหนักอย่างไร  ก็ทรงอุตสาห์ข่มทุกขเวทนาสั่งสอนคนอื่น ดังเช่น ทรงโปรดสุภัททปริพาชกก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นต้น พุทธกิจ  5  ประการ คือ

 

            ( 1 )  ปุเรภัตตกิจ  เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต  ถือโอกาสแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ด้วย

 

            ( 2 )   ปัจฉาภัตตกิจ  เวลาบ่ายทรงแสดงธรรมโปรดประชาชน

 

            ( 3 )   ปุริมยามกิจ  เวลาค่ำทรงประทานโอวาทแด่ภิกษุสงฆ์

 

            ( 4 )   มัชฌิมยามกิจ  เวลากลางคืนทรงตอบปัญหาเทวดา

 

            ( 5 )   ปัจฉิมยามกิจ  เวลาจวนสว่างทรงตรวจดูบุคคลที่พึงโปรดด้วยพระญาณ

 

 2.   ญาตัตถจริยา   พระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์พระญาติเมืองกบิลพัสดุ์และพระญาติเมืองเทวทหะหลายครั้ง  เพราะทรงถือว่าแม้พระองค์จะเป็น  “ คนของโลก ” แล้ว  ก็ไม่ทรงละเลยการอนุเคราะห์เกื้อกูลกันฉันเครือญาติ  เช่น  เสด็จนิวัติเมืองกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดา  และพระประยูรญาติทั้งหลายหลังการตรัสรู้แล้ว , เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  โดยเทศนาพระอภิธรรมโปรดตลอดพรรษา , ทรงชักนำขัตติยกุมารจากศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ออกบวชเพื่อให้พบแนวทางชีวิตที่ดีกว่า  ตลอดถึงทรงอนุญาตให้ขัตติยนารีที่เป็นพระญาติของพระองค์บวชเป็นภิกษุณีด้วย  เช่น  กรณีให้นางมหาปชาบดีโคตมีบวช ทรงระงับสงครามแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์  ทำให้พระญาติทั้งสองฝ่ายไม่ต้องฆ่าฟันกันให้เสียเลือดเนื้อ  เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นอนุสรณ์ปางหนึ่งเรียกว่า “ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ”  ( พระพุทธรูปยืนยกหัตถ์ขวาในท่าห้ามปราม ) ทรงเสด็จไปป้องกันพระญาติฝ่ายศากยวงศ์จากการถูกทำลายล้างของพระเจ้าวิฑูฑภะ  ผู้ยกทัพมาโจมตีเมืองกบิลพัสดุ์ด้วยความแค้นส่วนตัวถึงสามครั้ง

 

3.   พุทธัตตถจริยา   หน้าที่ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำในฐานะที่เป็นพระพุทธเจ้า  ความจริงรวมอยู่ในโลกัตตถจริยานั่นเอง  แต่ที่แยกพูดอีกต่างหากก็เพื่อเน้นว่า  หน้าที่บางอย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงทำได้  พุทธะอื่นๆ ( คือปัจเจกพุทธะและอนุพุทธะ )ไม่สามารถทำได้  พุทธจริยามีมากมายเช่น

 

            3.1 )   ช่วยสรรพสัตว์ข้ามห้วงทุกข์   พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมายาวนาน  เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็ตั้งพระปณิธานจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์  เมื่อได้ตรัสรู้แล้วทรงทำหน้าที่นี้ตลอดพระชนม์ชีพ

 

            3.2 )   ปูพื้นฐานแห่งกุศลธรรม   หรืออุปนิสัยที่ดีในภายหน้า  ในกรณีที่ทรงแนะหรือฝึกฝนบางคนไม่ได้  เพราะเขามีความหยาบช้าหนาแน่นไปด้วยโมหะอวิชชาเกินกว่าจะเข้าถึงธรรมได้  พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งพยายามสั่งสอนเพื่อให้เขามีอุปนิสัยปัจจัยที่ดีในภายภาคหน้า  ดังกรณีทรงบวชให้พระเทวทัต  ทั้งๆที่รู้ด้วยพระญาณว่าเทวทัตบวชแล้วจักทำสังฆเภท ( สร้างความแตกแยกในหมู่สงฆ์ )

 

             3.3 )   ช่วยปิดทางอบาย   คือปิดกั้นมิให้คนบางประเภทถลำลึกลงสู่ทางแห่งความเสื่อมฉิบหาย  เช่น  เสด็จไปโปรดโจรองคุลิมาล  ก่อนที่จะพบมารดาระหว่างทางและก่อนจะกระทำมาตุฆาต ( ฆ่ามารดา ) อันเป็นกรรมหนัก

 

             3.4 )   ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อความดำรงมั่นแห่งพระศาสนา  พระวินัยถือว่าเป็นรากแก้วแห่งพระพุทธศาสนา  เมื่อพระสงฆ์บางรูปกระทำสิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะ  เป็นที่ตำหนิติเตียนของชาวโลก  พระองค์ทรงวางเป็นข้อบังคับห้ามทำเช่นนั้นอีกต่อไป  พระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นเป็นเครื่องควบคุมสงฆ์ให้มีความสงบเรียบร้อย  เป็นที่เลื่อมใสของประชาชน  และเป็นเครื่องจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวร

 

             3.5 )   ทรงสถาปนาสถาบันสืบทอดพระพุทธศาสนา   ทรงตั้งพุทธบริษัท  4   คือ  ภิกษุ   ภิกษุณี   อุบาสก   อุบาสิกา   พร้อมทรงวางหน้าที่ให้แต่ละฝ่ายปฏิบัติและหน้าที่พึงปฏิบัติร่วมกัน  เพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระพุทธศาสนาสืบไป 

คลังความรู้

bottom of page