top of page

     วันธรรมสวนะ
 วันธรรมสวนะ  แปลว่า  วันสำหรับฟังธรรม  เรียกกันทั่วไปว่า  วันพระ  ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน  ๒  วัน  คือ  วันพระเล็ก  ได้แก่  วันขึ้นและวันแรม  ๘  ค่ำ  และวันพระใหญ่  ได้แก่  วันขึ้นและวันแรม  ๑๕  ค่ำ
ตามประวัติกล่าวว่าครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล  พระเจ้าพิมพิสารทอดพระเนตรเห็นพวกเดียรถีย์ประชุมกันในวัน  ๘  ค่ำ  และ  วัน  ๑๔  หรือ  ๑๕  ค่ำ  ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม  จึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า  ซึ่งทรงมีพุทธานุญาตให้มีการประชุมกันในวันดังกล่าวและให้มีการแสดงธรรมและฟังธรรมเพื่อนำไปเป็นข้อปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ  ดังนั้นวันธรรมสวนะจึงมีความสำคัญและมีคุณประโยชน์ดังนี้
๑)  เป็นโอกาสที่พระภิกษุสามเณรได้มาประชุมพร้อมกันฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
๒)  เป็นโอกาสที่พระภิกษุสามเณรได้ผลัดกันแสดงธรรม  อันเป็นวิธีการฝึกตนและประสบการณ์ให้มีความสามารถในการถ่ายทอดหลักธรรมคำสอน  เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบไป
๓)  เป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชนจะได้เจริญศรัทธาในพระพุทธศาสนาและพระรัตนตรัย
๔)  เป็นโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในชุมชน  เพราะในวันนี้ประชาชนจะมาร่วมกันทำบุญ  จึงเป็นวิธีการสร้างความสามัคคี  และการอนุเคราะห์ช่วยเหลือกันตามสมควร

 วันเข้าพรรษา
              

             วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่มีพุทธบัญญัติกำหนดให้พระภิกษุสงฆ์จะต้องพักประจำอยู่กับที่ในฤดูฝนตลอดเวลา ๓ เดือน การเข้าพรรษาในปีหนึ่งๆมีพุทธบัญญัติจะต้องพักประจำ

ตรงกับวันแรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๘  หรือวันที่ถัดจากวันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่า  จะอยู่ประจำอาวาสเดียวไม่ไปค้างแรมที่อื่นตลอด  ๓  เดือน
 ตามประวัติกล่าวว่า  ในสมัยพุทธกาลพระสงฆ์ได้ท่องเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ  โดยไม่มีการหยุดพัก  แม้ในฤดูฝน  ซึ่งเป็นฤดูทำนา  บางครั้งจึงไปเดินเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้านที่เพิ่งเริ่มเป็นต้นอ่อนก่อให้เกิดความเสียหาย  ชาวบ้านพากันติเตียน  พระพุทธองค์จึงทรงวางระเบียบให้พระภิกษุอยู่ประจำอาวาสตลอด  ๓  เดือนในฤดูฝน  เรียกว่า  จำพรรษา
 ต่อมาการเข้าพรรษามีวัตถุประสงค์กว้างขวางออกไป  กล่าวโดยสรุปคือ
๑)   วันพระสงฆ์ได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยมากขึ้น
๒)  เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านบำเพ็ญกุศล
๓)  เพื่อให้ประชาชนได้นำบุตรหลานที่เป็นชายเข้ามาบวช  เพื่อศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

วันออกพรรษาและวันเทโวโรหณะ
                 

             วันออกพรรษา หมายถึง วันที่สิ้นสุดการกำหนดอยู่จำพรรษาของพระภิกษุตามพุทธบัญญัติ

ตรงกับวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๑๑  เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์สามารถไปพักค้างแรมในที่เหมาะสมอื่นได้
ทั้งนี้ก่อนวันออกพรรษา  ๑  วัน  เป็นวันที่พระสงฆ์จะมีโอกาสกล่าวคำตักเตือนซึ่งกันและกัน  หากพระสงฆ์รูปใดมีข้อข้องใจเรื่องความประพฤติเกี่ยวกับวินัยสงฆ์ก้ไม่ต้องนิ่งไว้  อนุญาตให้ชี้แจงกันได้  การออกพรรษาจึงเป็นพิธีกรรมเฉพาะพระสงฆ์  เรียกว่า วันปวารณา
                อนึ่งในเทศกาลออกพรรษา  พุทธศาสนิกชนจะมีการทำบุญตักบาตร  เรียกว่า  ตักบาตรเทโวโรหณะหรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่า  การตักบาตรเทโว  คือ  การทำบุญตักบาตรเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงจากเทวโลก  หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาเพื่อโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันรุ่งขึ้น  คือ  วันแรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๑๑  เป็นโอกาสพิเศษพร้อมใจกันตักบาตรเฉลิมฉลองและถือเป็นประเพณีสืบมา

              

               หลักธรรมคำสอนที่เกี่ยวข้องกับวันธรรมสวนนะและเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา

  

    หลักธรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวันธรรมสวนะ (วันพระ) และเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนามีหลายหัวข้อ ตัวอย่างเช่น

หิริ-โอตตัปปะ -  เป็นหลักธรรมคุ้มครองโลกให้บุคคลละอายต่อบาปและเกรงกลัวต่อบาป ไม่ประพฤติชั่วทั่วในที่ลับและที่แจ้ง

พรหมวิหาร๔ -  ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นหลักธรรมประจำใจอันประเสริฐ

สติ-สัมปชัญญะ -  เป็นหลักธรรมที่มีอุปการะมาก เพราะสอนให้ระลึกได้ เห็นชัดในสิ่งที่ตนประสบสัมผัสตามความเป็นจริง

อิทธิบาท๔ -  ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นหลักธรรมที่นำไปสู่ความความสำเร็จหลักธรรมเหล่านี้ พระสงฆ์ผู้เป็นธรรมกถึกมักใช้แสดงธรรมแก่อุบาสกอุบาสิกา เพราะเป็นธรรมะขั้นพื้นฐานสำหรับชาวบ้าน

 

                การปฏิบัติที่ถูกต้องในวันธรรมสวนะและเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา

อามิสบูชา คือ บูชาด้วยวัตถุสิ่งของ เช่น ตักบาตรในตอนเช้า ส่วนตอนเย็นนำดอกไม้ธูปเทียนไปเวียนเทียน

ปฏิบัติบูชา คือ บูชาด้วยการปฏิบัติธรรม ได้แก่ การไปวัดฟังเทศน์ การสมาทานรักษา ศีล ๕ หรือศีล ๘ รวมถึงการบำเพ็ญสมาธิภาวนาทำจิตใจให้สงบ

วันธรรมสวนะ และเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา

คลังความรู้

bottom of page