top of page

ชาวพุทธตัวอย่าง

 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พระประวัติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับพระอัครเทวี พระองค์เจ้าศิริราชกัลยา ทรงพระราชสมภพ ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2175 (จุลศักราช 994) เมื่อยังทรงพระเยาว์มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้านรินทร์” ครั้นเจริญพระชันษาได้ 1 เดือน สมเด็จพระราชบิดาตรัสให้มีการพระราชพิธีขึ้นพระอู่ก็มีเหตุมหัศจรรย์ คือในระหว่างพระราชพิธีนั้น ขณะที่พระราชกุมารบรรทมอยู่ในพระอู่ พระญาติวงศ์ฝ่ายในบังเอิญเห็นเป็น 4 พระกรแล้วจึงกลับเป็นปรกติเป็น 2 พระกร สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงตรัสให้เอานิมิตรนั้นเปลี่ยนพระนามเสียใหม่ว่า “พระนารายณ์ราชกุมาร”

 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ขณะมีพระชนมายุได้ 25พรรษา เมื่อเวลาบ่าย 2โมง ของวันพฤหัสบดี เดือน 12 แรม 2ค่ำ ปีวอก อัฏศก จุลศักราช 1018 (ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199)

 

กล่าวกันว่า ในรัชกาลของพระองค์ บ้านเมืองมีความเจริญในด้านศิลปวิทยาและการศึกษา ราษฎรเป็นสุขสมบูรณ์เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงมีปัญญาเฉลียวฉลาด บำรุงบ้านเมืองดี ทั้งทรงเป็นปราชญ์และกวี สิ่งสำคัญที่สุดคือการติดต่อกับต่างประเทศ

 

ในรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราช การค้าขายกับต่างประเทศเจริญมาก จึงเกิดขัดใจกันกับพวกฮอลันดา ซึ่งกำลังมีอำนาจอยู่ พระองค์ทรงหวั่นเกรงภัยจะมาจากฝรั่ง จึงให้สร้างป้อมขึ้นที่เมืองธนบุรีและนนทบุรี และดัดแปลงเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีอีกแห่งหนึ่ง ฝ่ายพวกบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในกรุงศรีอยุธยา เห็นเป็นโอกาสดีก็เข้าอาสาช่วยในการก่อสร้าง และทูลไปยังพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสให้ส่งทูตมาฝากฝังพวกตน ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงยินดี ที่จะผูกไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ ซึ่งกำลังมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในยุโรป ฮอลันดากับอังกฤษมีความยำเกรงมาก ทั้งมีพระประสงค์จะให้ไทยได้รับความรู้จากฝรั่งเศสด้วย ตอนกลางของรัชสมัยของพระองค์ มีฝรั่งชาติกรีก ชื่อฟอลคอน เข้ามาทำราชการเป็นที่พอพระทัยมาก จนได้ตำแหน่งหน้าที่สำคัญและได้รับยศเป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ให้ประเทศไทยนานัปการ บ้านเมืองในสมัยของพระองค์ได้รับการยกย่องจากประวัติศาสตร์ว่า ฟุ้งเฟื่องด้วยนักปราชญ์ราชบัณฑิตเกริกก้องกำจายด้วยศิลปวรรณคดีและยิ่งไปกว่านั้นในความสัมพันธ์กับต่างประเทศนับเป็นครั้งแรกที่รุ่งเรืองจนเป็นที่เลื่องลือที่สุด

 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชย์ เสด็จสวรรคต ณ วันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1050 ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 เป็นปีที่ 32 ในรัชกาล พระชันษาสิริรวมได้ 56 พรรษา

 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระพุทธศาสนา

 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนอกจากจะทรงเป็นขัตติยกวีจำเพาะพระองค์เองแล้ว หากแต่ในรัชสมัยของพระองค์ก็ยังพรั่งพร้อมไปด้วยนักปราชญ์ ราชบัณฑิต และพระมหาเถรานุเถระผู้แตกฉานในคัมภีร์พระไตรปิฎกและทรงวิทยาคุณ พระองค์ทรงฝักใฝ่ในทางพระธรรมและข้อวัตรปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ทรงวิสาสะกับพระเถรานุเถระทั้งหลายเหล่านั้นอยู่เนืองๆ ดังจะเห็นได้จากพระราชปุจฉาหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในรัชกาลของพระองค์

 

ความหนักแน่นทางพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเห็นได้ชัดเมื่อมีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์มายังประเทศไทย บาทหลวงของศาสนาคริสต์ได้นำหลักคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลมาให้พระองค์ทรงศึกษา วันหนึ่งมีบาดหลวงถือไม้เท้ามีไม้กางเขนอันใหญ่เหมือนกับโป๊ปถือเข้าไปเฝ้าพระองค์ บอกกับพระองค์ว่า “ถึงเวลาแล้ว เพราะหว่าพระองค์ทรงรู้เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า ของพระเยซูคริสต์ดีแล้ว ควรจะรับศีลเป็นคาธอลิคเสียที” พระองค์ทรงตอบว่า “ถ้าพระผู้เป็นเจ้าในคัมภีร์ของทานมีอยู่จริง มีอำนาจพิเศษจริง ๆ พระผู้เป็นเจ้าของท่านก็คงทราบว่าประเทศไทยนี่ เป็นเมืองนับถือพระพุทธศาสนา แล้วพระผู้เป็นเจ้าให้ข้าพเจ้ามาเกิดในประเทศไทยก็เท่ากับว่าให้มาเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท นับถือพระพุทธศาสนา ถ้าข้าพเจ้าเปลี่ยนจิต เปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิคที่พวกท่านให้ข้าพเจ้านับถือ มันก็ขัดกับความต้องการของพระผู้เป็นเจ้า จะเป็นโทษเป็นบาป” (มูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ, ม.ป.ป. :41-42)

 

คุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง

 

1. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ธรรมะนำการเมืองไทย ในสมัยนั้นมีการล่าอาณานิคม ท่านสามารถนำหลักธรรมะมาใช้ในการบริหารบ้านเมืองให้พ้นจากการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตกได้อย่างสง่างาม จึงทรงรักษาไว้ได้ทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

 

2. ทรงมีพระทัยหนักแน่นในการนับถือพระพุทธศาสนา จะเห็นได้จากพระองค์ทรงปฏิเสธการเข้ารีตศาสนาคริสต์

 

 

พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประวัติและผลงาน ท่านพุทธทาสภิกขุ นามเดิม “เงื้อม” เป็นบุตรของ นายเซี้ยง นางเคลื่อน พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ณ หมู่บ้านกลาง ตำบลพุมเรียง (ที่ตั้งเดิมของจังหวัดไชยา ก่อนเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี)

 

ปี พ.ศ. 2457 เด็กชายเงื้อม พานิช ได้เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นแบบโบราณด้วยการเป็น “เด็กวัด” ที่วัดพุมเรียง

 

ปี พ.ศ. 2460 เด็กชายเงื้อม ได้กลับมาอยู่บ้าน เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดโพธารามจนถึงชั้นมัธยม

 

ปี พ.ศ. 2464 ย้ายมาเรียนมัธยมปีที่ 2 ที่โรงเรียนสารภีอุทิศ ตำบลตลาด อำเภอไชยา

 

ปี พ.ศ. 2465 ออกจากการเรียนมาช่วยดำเนินการค้ากับมารดาเนื่องจากบิดาถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน

 

ปี พ.ศ. 2469 บวชก่อนเข้าพรรษา เมื่อ 29 กรกฎาคม ได้ฉายา “อินฺทปญฺโญ”

 

ปี พ.ศ. 2471 สอบได้นักธรรมเอก

 

ปี พ.ศ. 2472 เป็นครูสอนนักธรรม ที่โรงเรียนนักธรรม วัดพระบรมธาตุไชยา

 

ปี พ.ศ. 2473 เรียนบาลีที่วัดปทุมคง กรุงเทพฯ เขียนบทความชิ้นแรก ชื่อ “ประโยชน์แห่งทาน” พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอุปัชฌาย์ และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค

 

ปี พ.ศ. 2475 เดินทางกลับพุมเรียง เข้าอยู่วัดร้างตระพังจิก

 

ปี พ.ศ. 2476 ออกหนังสือพิมพ์พุทธศาสนารายตรีมาส (3 เดือน)

 

ปี พ.ศ. 2486 ย้ายมาจำพรรษาที่สวนโมกพลาราม บริเวณธารน้ำไหล เขาพุทธทอง (สวนโมกขพลารามในปัจจุบัน)

 

ปี พ.ศ. 2536 มรณภาพ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม เวลา 11.20 นาฬิกา

 

ท่านพุทธทาสภิกขุ ศึกษาหลักธรรม จากพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน ทั้งด้านพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ถือได้ว่าท่านเป็นนักปราชญ์ทางศาสนา

 

ท่านพุทธทาสภิกขุท่านบวชแล้วศึกษาค้นคว้าธรรมะ มองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ในวงการพระศาสนา เห็นว่ายังมีความเชื่อไม่ถูกทาง ปฏิบัติไม่ถูกต้องอยู่หลายเรื่อง ท่านจึงใช้การเทศน์การสอน การสอนของท่านไม่ได้สอนเพื่อให้คนเข้าใจศาสนา สอนไปตามเรื่องตามราว ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่สอนให้คนเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ดังที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาช่วยแก้ไขปัญหาสังคมในยามวิกฤติ เช่น ในยามเกิดสงคราม ในงานบ้านเมืองวุ่นวาย เป็นต้น นอกจากนั้นท่านเป็นนักเขียนหนังสือธรรมะมากมาย เช่น ชุดธรรมโฆษณ์ มีทั้งหมด 40 เล่ม หนังสือธรรมะเล่มธรรมดาทั่วไปมีมากมาย นอกจากนั้นยังมีเทปธรรมะที่ท่านได้เทศนาสั่งสอนจนนับไม่ถ้วน

 

ปณิธานของท่านพุทธทาสภิกขุ

 

ท่านพุทธทาสภิกขุได้ตั้งปณิธานไว้ 3 ประการคือ

 

ประการที่ 1 ให้ทุกคนที่นับถือศาสนาของตนได้เข้าถึงธรรมะของศาสนาที่ตนนับถือ

 

ประการที่ 2 ต้องการทำความเข้าใจระหว่างศาสนา เพื่อไม่ให้เกิดการแตกแยกแตกร้าว

 

ประการที่ 3 มีความต้องการที่จะพรากจิตของชาวโลกให้ห่างจากวัตถุนิยม

 

สวนโมกขพลาราม

 

ท่านเป็นผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม แปลว่า สวนเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น เป็นสวนที่ตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาค้นคว้าธรรมะ เพื่อปฏิบัติธรรมะให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นต่อไป สวนโมกขพลารามไม่ใช่มีเพียงชาวพุทธที่เป็นคนไทยเท่านั้นที่ไปปฏิบัติธรรม ยังมีชาวต่างประเทศมากมากเข้ามาศึกษาธรรมะกับท่านด้วย ท่านปัญญานันทะเล่าประวัติของท่านไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสวนโมกขพลารามว่า “เวลานี้ฝรั่งมาอยู่ที่สวนโมกข์มากมาย บางเดือนถึง 100 ทุกเดือนนี่ท่านต้องพูดกับฝรั่ง 10 วันตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 10 ทุกวันเวลาบ่าย” สวนโมกขพลารามของท่านจึงเป็น “สวนโมกข์นานาชาติ”

 

คุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง

 

1. ท่านทรงเป็นแบบอย่างของพระภิกษุและชาวพุทธทุกคนในการศึกษาค้นคว้าหลักธรรมะให้เข้าใจอย่างแท้จริง จนสามารถเทศนาสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องชัดเจน และสามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติได้

 

2. ท่านทรงแต่งตำราทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านที่สามารถนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ท่านเขียนไว้ไปประพฤติปฏิบัติได้

 

3. ท่านมีปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะให้มวลมนุษย์ได้เข้าใจหลักธรรมะที่ตนนับถือ (ไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม) ต้องการสร้างความปองดองกันในทุกศาสนา ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก และต้องการให้ทุกคนไม่หลงมัวเมาอยู่ในแต่ “วัตถุนิยม” แต่หันมาสนใจธรรมะ เข้าใจธรรมะ และปฏิบัติธรรมะ ในลักษณะ “ธรรมนิยม”

 

4. ท่านเป็นแบบอย่างของชาวพุทธในการเผยแผ่ธรรมะที่ถูกต้องให้แก่ชาวโลก ดังนั้นจึงมีผู้ให้ความสนใจที่จะเข้าไปศึกษาธรรมะกับท่านในสวนโมกขพลาราม ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ท่านได้ช่วยรื้อฟื้นธรรมะของพระพุทธเจ้า ปลุกชาวพุทธให้ตื่นตัว ให้ก้าวหน้า เพื่อทำกิจอันเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา

 

 

พระพรหมมังคลาจารย์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประวัติและผลงาน พระพรหมมังคลาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ) เดิมชื่อ ปั่น นามสกุล เสน่ห์เจริญ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 11 พฤษภาคม 2454 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน ที่ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของ นายวัน นางคล้าย เสน่ห์เจริญ มีพี่ชาย 1 คน พี่สาว 2 คน และน้องสาว 1 คน

 

วัยเด็ก เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง จากนั้นย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง จนจบชั้น มัธยมปีที่ 3 ในสมัยนั้น แล้วไม่ได้ศึกษาต่อเพราะมีอุปสรรคทางบ้าน บิดาป่วย ต้องลาออกเพื่อช่วยเหลือครอบครัว

 

วัยหนุ่ม ติดตามพระภิกษุผู้เป็นลุงไปประเทศมาเลเชีย แล้วกลับมาทำงานเหมืองแร่และสวนยางที่จังหวัดภูเก็ต พออายุได้ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดอุปนันทาราม ตำบลเขานิเวศน์ จังหวัดระนอง ได้เป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประชาบาล ได้รับเงินเดือนๆ ละ 25 บาท และได้เรียนนักธรรม จนสอบได้นักธรรมตรี ได้ที่ 1 ของมณฑลภูเก็ต อายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดนางลาด ตำบลเขาเจียก อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมี พระครูจรูญกรณีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์

 

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ร่วมธุดงค์เผยแพร่พระพุทธศาสนา และได้ไปจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาส ต่อจากนั้น ท่านได้เข้ารับการศึกษาภาษาบาลีที่วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

 

เมื่อปี พ.ศ. 2492 ท่านปัญญานันทภิกขุ ได้ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการปาฐกถาธรรม และได้ออกเทศน์ตามหมู่บ้านโดยรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงและเขียนบทความต่างๆ ลงหนังสือพิมพ์ชาวเหนือ ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ นานถึง 11 พรรษา (พ.ศ. 2492-2502)

 

นอกจากนั้น ท่านยังได้เดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังทวีปยุโรค และร่วมประชุมกับขบวนการศีลธรรมโลก (M.R.A) ที่เมืองโคซ์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ท่านปัญญานันทภิกขุ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นที่ พระปัญญานันทมุนี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 และท่านได้รับอาราธนาจากกรมชลประทานให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

 

ปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระราชนันทมุนี”

 

ปี พ.ศ. 2520 ได้รับรางวัล “สังข์เงิน” เป็นเกียรติในฐานะพระภิกษุผู้เผยแพร่ธรรมะยอดเยี่ยมประจำปี 2520 จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย

 

ปี พ.ศ. 2524 ได้รับปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

ปี พ.ศ. 2530 ได้รับถวายปริญญาสังคมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้รับพระราชาทานสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระเทพวิสุทธิเมธี”

 

ปี พ.ศ. 2532 ได้รับปริญญาคุรุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

 

ปี พ.ศ. 2537 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระธรรมโกศาจารย์”

 

ปี พ.ศ. 2540 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 18 และเมื่อปี พ.ศ. 2541 ท่านได้ลาออกจากตำแหน่ง

 

ปัจจุบัน พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ 9 ประธานมูลนิธิพุทธทาส ประทานมูลนิธิส่งเสริมแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง นอกจากนั้น ท่านยังได้แสดงปาฐกถาธรรมทุกวันอาทิตย์ เวลา 9.30 – 10.30 น. ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ แสดงปาฐกถาธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน เวลา 8.00 น. – 8.30 น.

ท่านยังได้แสดงปาฐกถาธรรมตามหน่วยราชการ สถานศึกษา สมาคม บริษัทต่างๆ ตลอดจนเดินทางไปเผยแผ่ธรรมะและเยี่ยมเยือนให้กำลังใจแก่พระภิกษุสงฆ์ที่ปฏิบัติศาสนกิจทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา จีน อิสราเอล อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 

คุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง 

 

ท่านปัญญานันทะภิกขุเป็นพระญาติธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ จึงมีบุคลิกลักษณะเช่นเดียวกับท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านจึงมีคุณธรรมที่เป็นแบบอย่างเหมือนกันกับท่านพุทธทาสภิกขุ ดังนี้

 

1. ท่านทรงเป็นแบบอย่างของพระภิกษุและชาวพุทธทุกคนในการศึกษาค้นคว้าหลักธรรมะให้เข้าใจอย่างแท้จริง โดยเหตุผลเช่นเดียวกับท่านพุทธทาสภิกขุ

 

2.ท่านทรงแต่งตำราทางพระพุทธศาสนาไว้มากมายก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านที่สามารถนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ท่านเขียนไว้ไปประพฤติปฏิบัติได้

 

3. ท่านเป็นแบบอย่างของชาวพุทธในการเผยแผ่ธรรมะที่ถูกต้องให้แก่ชาวโลก โดยท่านได้เดินทางไปเผยแผ่ธรรมะในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ

 

 

ดร. เอ็มเบคการ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดร. เอ็มเบคการ์ มีชื่อเต็มว่า ดร.พิมเรา รามชิเอ็มเบคการ์ เป็นคนในวรรณะจันฑาลซึ่งสังคมฮินดูของอินเดียรังเกียจเนื่องจากเป็นวรรณที่ต่ำสุดบางครั้งก็เรียกวรรณะนี้ว่า “อวรรณะ” คือคนไม่มีวรรณะหรือไม่มีสังกัด สำหรับพวกที่มีวรรณะหรือมีสังกัดจะมี 4 กลุ่ม ตามลำดับคือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร เรียกว่าพวก “สวรรณะ” และสำหรับวรรณะจันฑาลนี้จะถูกห้ามไม่ให้เข้าไปใช้น้ำในสระสาธารณะร่วมกันกับพวกวรรณะอื่น ๆ ข้างต้นดังกล่าว ให้ใช้เฉพาะน้ำที่สกปรกเท่านั้น พวกเด็ก ๆ ก็ไม่อนุญาตให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่เด็กฮินดูเรียนกันทั้งที่พวกเขานับถือเทพเจ้าองค์เดียวกันกับพวกฮินดูทั้งหลาย อยู่ภายใต้ประเพณีวัฒนธรรมอันเดียวกัน แต่โบสถ์ฮินดูก็ไม่ยอมให้พวกเขาเข้าไปสักการะหรือร่วมพิธีทางศาสนาเป็นอันขาด ร้านตัดผม ร้านทำผม และร้านซักรีดเสื้อผ้าก็ไม่ยอมให้พวกเขาไปใช้บริการ

 

ครอบครัวของ ดร. เอ็มเบดการ์ ย้ายมาจาก “กอนกัน” ซึ่งเป็นเขตที่รัฐบาลอินเดียจัดสรรแบ่งแยกให้โดยเฉพาะ หมู่บ้านที่บรรพบุรุษของท่านได้ตั้งรกรากมาเป็นเวลานานแล้วคือหมู่บ้าน “เอ็มพาวาเด” ห่างจากเมือง “มันทังคัด” ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ 5 ไมล์ ขึ้นกับ อำเภอรัตนคีรี รัฐบอมเบย์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น มุมไบ)

 

ประวัติการศึกษา

 

ดร. เอ็มเบดการ์ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ ปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ และเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

 

อาชีพ 

 

ดร. เอ็มเบดการ์ ประกอบอาชีพเป็นทนายความ เช่นเดียวกับมหาตมคานธี ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐบอมเบย์

 

ผลงานเด่น

 

ดร. เอ็มเบดการ์ ได้ทำการต่อสู้เพื่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและศาสนา จนสำเร็จและสามารถทำให้คนในวรรณะจันฑาลมีความเสมอภาพกับคนในวรรณะอื่น ในทุก ๆ ด้าน แต่อย่างไรก็ดีสังคมอินเดียในปัจจุบันโดยทางนิตินัยนั้นถือว่ามีความเท่าเทียมกัน แต่ในทางพฤตินัยยังมีการแบ่งชั้นวรรณะกันอยู่เรื่อยมา

 

ผลงานทางพระพุทธศาสนา

 

ดร. เอ็มเบดการ์ ถือว่าเป็นบุคคลแรกของอินเดียที่ได้นำเอาพระพุทธศาสนากลับมาสู่มาตุภูมิ (ถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนา) โดยตัวท่านเองในเบื้องแรกนั้นนับถือศาสนาพราหมณ์ ต่อมาจึงเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา ท่านได้เข้าพิธีอย่างเป็นทางการ และท่านได้ยกย่องพระพุทธศาสนาว่า เป็นศาสนาที่สร้างสันติภาพให้แก่โลก เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เป็นประชาธิปไตย ให้ความเสมอภาค ภราดรภาพ และยกย่องความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

 

คุณธรรมที่ถือเป็นแบบอย่าง

 

ดร. เอ็มเบดการ์ ใช้ธรรมะนำการเมืองของอินเดีย สมัยต่อสู้เอกราชจากอังกฤษ เป็นผู้นำของรัฐสภาผู้ร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย เป็นบุคคลแรกที่นำเอาพระพุทธศาสนากลับมาสู่มาตุภูมิ จึงเป็นที่ศรัทธาของชาวอินเดียทั่วไป จนกลับใจหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามอย่างท่านรวมเป็นจำนวนหลายล้านคน

คลังความรู้

bottom of page