top of page

พระพุทธศาสนากับการเมืองและสันติภาพ

        มนุษย์ไม่อาจอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง จำเป็นต้องรวมกันอยู่เป็นสังคม เป็นกลุ่มก้อน

ดังนั้น จำเป็นต้องจัดระบบในการอยู่ร่วมกัน โดยจะต้องมีฝ่ายปกครอง และอยู่ภายใต้การปกครอง ซึ่งไม่ว่าการปกครองจะเป็นลักษณะใดก็ตามถือว่าเป็น “การเมือง” การเมืองจึงเป็นเรื่องของการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองจะผูกมัดสมาชิกทั้งหมดในสังคม 

 

          หลักการปกครองของพระพุทธศาสนามีประเด็นสำคัญที่น่าศึกษาและควรนำมาประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือพระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นมาในช่วงที่มนุษย์ถูกกดขี่อิสรภาพ มีการถือชั้นวรรณะเป็นการจำกัดสิทธิ และหน้าที่ของมนุษย์ ยังผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะสังคมชนชั้นของอินเดียในสมัยนั้นได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาติอริยกะ ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดอำนาจแต่เพียงเผ่าเดียว จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้อุบัติขึ้นในโลก ทรงปฏิเสธการถือชั้นวรรณะทั้ง 4 คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ด้วยการยึดถือหลัก “อาวุโส” เป็นประการสำคัญ (ประสิทธิ์ จันรัตนา, 2539 : 3)

         ประเด็นที่ยกมาจะเห็นได้ว่าการเมืองและสันติภาพเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ให้ความสำคัญที่จะปลดปล่อยมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทรงต่อสู้กับแนวทางการปกครองที่ถือชั้นวรรณะ การเอาเปรียบซึ่งกันและกัน มาสู่ความเสมอภาคกันและมีเสรีภาพในการดำรงชีวิตพระพุทธศาสนาจึงมีแนวทางและหลักการที่จะนำพาชาติบ้านเมืองให้บรรลุเป้าหมายที่สงบสุขมีสันติอย่างแท้จริง โดยให้ฝ่ายปกครองและสมาชิกของสังคมนั้น ๆ หรือประเทศชาตินั้น ๆ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่จะช่วยพยุงความอยู่รอดปลอดภัยให้เกิดแก่ชาติบ้านเมืองเป็นอันดับแรก จะเป็นสภาพเอื้อให้สมาชิกทุกคนในประเทศนั้นมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และมีจิตใจมุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วย

 

         การเมืองในโลกเป็นเรื่องของการแบ่งสรรผลประโยชน์และอำนาจ จึงจำเป็นต้องสะสมผู้คน พวกพ้อง เงินทอง ข้าวของ แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆเพราะหากตกลงกันด้วยดีไม่ได้ ก็ต้องข่มขู่ด้วยวิธีการที่รุนแรงไปตามลำดับ จนกระทั่งการสู้รบขนาดเล็กไปจนถึงสงครามขนาดใหญ่ลามไปทั่วโลก การเมืองทางโลกจึงเป็นการแสดงพลังอำนาจทุกๆ วิถีทางเพื่อจะได้เหนือคู่ต่อสู้อันจะทำให้สามารถแย่งชิงผลประโยชน์ในสัดส่วนที่มากกว่าคนอื่นเพราะหตุแห่งการมีกำลังอำนาจมากกว่าคนอื่น พระพุทธศาสนากลับมีแนวคิดตรงข้ามกับการแสวงหาอำนาจที่มากกว่าผู้อื่น แต่มุ่งเน้นในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ดังท่านองค์ดาไล ลามะ ผู้นำพุทธศาสนาของทิเบต ได้กล่าวว่า

 

  "มวลมนุษยชาติที่ถือกำเนิดเกิดมาบนโลกใบนี้ย่อมถือว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน คือครอบครัวโลกมนุษย์ และเช่นเดียวกับสมาชิกทั้งหลายของครอบครัวทั่วไปครอบครัวหนึ่ง เราจึงมีบุคลิกภาพที่ไม่เหมือนกัน พร้อมกับความแตกต่างทางด้านบุคลิกภาพนั้น เราจึงมีความแตกต่างกันทางด้านสติปัญญา ความสนใจ และวัฒนธรรมประเพณีตามมา แต่ถึงเราจะมีความแตกต่างกันอย่างไร เราก็ยังเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ กล่าวคือ เราต้องการความสุขและเกลียดความทุกข์ความเจ็บปวด และที่สำคัญคือเราต่างมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะแสวงหาความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์เท่ากัน"

 

คลังความรู้

bottom of page