top of page

พุทธสาวก

พระอนุรุทธะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     พระอนุรุทธะ ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะ เป็นโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะเป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระเชษฐาร่วมสายโลหิต คือ เจ้าชายมหานามะ ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ ท่านมีพระสหายสนิท คือ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคะ และเจ้าชายกิมพิละ รวมทั้งเจ้าชายเทวทัตแห่งเมืองเทวทหะ ชีวิตในเพศฆราวาสของท่านเต็มไปด้วยความอบอุ่นเนื่องจากพระมารดาทรงรักและดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตระกูลพระญาติทั้งหลาย นิยมให้บุตรหลานออกบวชตาม และเมื่อท่านถูกพระญาติถามถึงเหตุผลที่ไม่ออกบวช ท่านจึงได้ปรึกษากับเจ้าชายมหานามะว่าใครจะออกบวช และเมื่อได้ทราบว่า การที่ต้องเป็นผู้ครองเรือนและผู้ครองเรือนต้องเรียนรู้การงานทุกอย่าง เป็นต้นว่า ต้องทำนาทุกปีเพื่อจะได้มีข้าวไว้บริโภค การทำนาต้องเริ่มต้นด้วยการไถ ไถแล้วจึงคราด คราดแล้วจึงหว่านหรือปลูกข้าวกล้า ครั้นสุกแล้วต้องเก็บเกี่ยวและหอบเข้าลานเพื่อนวด เป็นต้น เจ้าชายอนุรุทธะเมื่อได้ฟังการงานของผู้ครองเรือนยิ่งลำบาก จึงตัดสินพระทัยออกบวช ไปทูลขออนุญาตจากพระมารดา พระมารดาไม่ประสงค์จะให้ออกบวช จึงบ่ายเบี่ยงให้เจ้าชายอนุรุทธะไปชวนเจ้าชายภัททิยะ เมื่อเจ้าชายภัททิยะตกลงพระทัยที่จะออกบวช ทำให้เจ้าชายที่เป็นพระสหายที่เหลือก็ได้ตกลงพระทัยออกบวชตาม

เจ้าชายกลุ่มนี้ได้ออกเดินทางไปขอบวชโดยมีเจ้าชายภัททะยะเป็นผู้นำ ณ อนุปิยอัมพวัน เมื่อบวชแล้ว พระอนุรุทธะได้เจริญสมาธิภาวนาได้ทิพจุกขุญาณ (ตาทิพย์) ภายหลังได้รับคำแนะนำจากพระสารีบุตรเกี่ยวกับมหาปุริสวิตก 8 ประการ ท่านได้เดินทางไปสู่ปาจีนวังทายวันปาจีนวังทายวัน แคว้นเจตี สามารถทำได้บริบูรณ์ 7 ข้อ ส่วนข้อสุดท้ายไม่สามารถทำได้ ได้รับคำแนะนำจากพระพุทธเจ้า จึงเข้าใจและในที่สุดได้บรรลุอรหัตตผลเมื่อบรรลุแล้ว ท่านได้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยประกาศพระพุทธศาสนา ท่านมีวัตรปฏิบัติที่น่าศึกษา คือ ความมักน้อย ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเวฬุวัน ท่านแสวงหาผ้าบังสกุลตามกองขยะมาทำจีวร เนื่องจากจีวรที่ใช้อยู่ประจำนั้นขาดพระอนุรุทธะได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้แจ้งเหล่ามัลลกษัตริย์ให้อัญเชิญพระศพของพระพุทธองค์เข้าเมืองทางประตูเมืองทิศอุดร (เหนือ) ผ่านกลางเมืองแล้วไปออกทางประตูเมืองด้านทิศบูรพา (ตะวันออก) ก่อนนำไปถวายพระเพลิง ณ มกูฏพันธนเจดีย์ พระอนุรุทธะนิพพานหลังพุทธปรินิพพานนานเท่าใด ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด

 

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

 

1. เป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร พระอนุรุทธะ เป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ จนกระทั่งได้บรรลุอรหัตผล

 

2. เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา เป็นสดมภ์หลักของพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง

 

3. เป็นผู้มีความมักน้อย ถึงแม้ท่านจะเคยเป็นเจ้าชายในราชสกุลมาก่อน แต่ท่านก็มิได้เย่อหยิ่งถือพระองค์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นที่เคารพยกย่องของผู้อื่นอยู่เสมอ

 

 

พระองคุลิมาล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    พระองคุลิมาล ท่านเกิดในวรรณะพรามหณ์ เมืองสาวัตถี บิดาชื่อภัคควะ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล มารดาชื่อ มันตานี มีชื่อเดิมว่า อหิงสกะ มีความเป็นอยู่สุขสบาย เมื่อเจริญวัยได้ไปศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์เมืองตักกสิลา ท่านตั้งใจศึกษาอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็รับใช้อาจารย์และภรรยาด้วยความเคารพจึงทำให้ท่านเป็นที่โปรดปรานมาก จนศิษย์คนอื่น ๆ พากันอิจฉาริษยาและใส่ร้ายท่านต่าง ๆ นานา โดยที่สุดกล่าวหาว่าท่านเป็นชู้กับภรรยาของอาจารย์ ในที่สุดอาจารย์ก็หลงเชื่อจึงวางแผนฆ่าท่าน โดยบอกว่าศิษย์ที่ศึกษาจบศิลปวิทยานั้นต้องให้ครุทักษิณา (ของบูชาครู) แก่อาจารย์ กล่าวคือ นิ้วมือขวาของคน 1,000 นิ้วด้วยเชื่อว่าท่านจะต้องถูกฆ่าตายเสียก่อน อหิงสกะกุมารจึงออกล่านิ้วเมือคน และนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องไหล่ เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า “องคุลิมาล” (ผู้มีนิ้วเป็นพวงมาลัย) ต่อมาความทราบถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์จึงรับสั่งให้จัดกำลังทหารออกตามล่าท่าน

 

วันหนึ่ง โจรองคุลิมาลนับนิ้วมือยังขาดอีกนิ้วเดียวก็จะครบ 1,000 นิ้ว ตั้งใจว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วก็จักกลับไปเยี่ยมบิดามารดา จึงออกจากกลางป่ามายืนดักอยู่มที่ปากทางเข้าป่า ฝ่ายนางมันตานีซึ่งเป็นมารดาของท่านทราบว่ากองทัพของพระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังมา จึงเดินมุ่งหน้าไปทางป่าที่โจรองคุลิมาลซ่อนอยู่ และวันนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ ทรงเห็นอุปนิสัยของโจรองคุลิมาลจะสามารถบรรลุมรรคผลได้ จึงรีบเสด็จไปโปรดทันเวลาที่นางมันตานีมาถึง เมื่อโจรองคุลิมาลเห็นพระพุทธเจ้าก็วิ่งไล่ตามพระพุทธเจ้าเพื่อประสงค์จะฆ่าและตัดเอานิ้วมือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้โจรองคุลิมาลวิ่งตามไม่ทันจนรู้สึกเหนื่อยล้า แล้วหยุดยืนอยู่กับที่ร้องขึ้นว่า “หยุดก่อน สมณะ หยุดก่อน” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด” พอพระพุทธเจ้าอธิบายให้ทราบว่า เราหยุดฆ่าสัตว์แล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด จึงพิจารณาตามและได้บรรลุโสดาปัตติผล ยอมทิ้งดาบก้มลงกราบพระบาทและทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ตามที่ทูลขอ ครั้นบวชแล้วเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุอรหัตผลในเวลาต่อมา

ภายหลังบรรลุอรหัตผลแล้ว ขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่นั้นเกิดปีติโสมนัส ท่านได้แสดงความรู้สึกว่า “ผู้ใดประมาทมาก่อนแล้วเลิกประมาทเสียได้ภายหลัง ผู้นั้นย่อมเป็นเหมือนพระจันทร์ที่โผล่พ้นเมฆหมอก คือทำโลกนี้ให้สว่างไสวได้”ต่อมาท่านออกบิณฑบาต แต่กลับถูกขว้างปาด้วยก้อนดินและท่อนไม้จนบาตรแตก ตัวท่านก็บาดเจ็บ จึงจำต้องกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน พระพุทธเจ้าทรงสอนท่านให้อดทน และทรงสอนว่าท่านกำลังได้รับผลกรรมที่ทำไว้ ท่านจึงแผ่เมตตาจิตไปในสรรพสัตว์ ท่านได้รับสรรเสริญว่าเป็นพระเถระประเภท “ต้นคดปลายตรง” คือ เบื้องต้นประมาทพลาดพลั้ง แต่ต่อมากลับเนื้อกลับตัวเป็นพระสาวกที่ดี เป็นตัวอย่างของอนุชนรุ่นหลังเป็นอย่างดี

 

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

 

1.เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร พระองคุลิมาลตอนเป็นอหิงสกะกุมาร ได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ท่านมีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ตลอดถึงคอยรับใช้ใกล้ชิดอาจารย์และภรรยา จนเป็นที่รักและโปรดปรานของอาจารย์

 

2. เป็นผู้ไม่ประมาท หลังจากที่พระองคุลิมาลได้เข้าเฝ้าและฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านกลับได้สติ จึงทูลขอบวชซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตบวชให้ นับว่าท่านเป็นคนประเภทต้นคดปลายตรง สมควรยึดถือเป็นเยี่ยงอย่าง

 

3. เป็นผู้มีความอดทน หลังจากท่านบวชแล้ว ประชาชนมักหวาดกลัวท่าน บางครั้งถึงกับถูกเขาขว้างด้วยก้อนหิน ได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส แต่ท่านก็มีความอดทน บำเพ็ญสมณธรรมและได้บรรลุอรหันต์ในที่สุด

 

 

จิตตคหบดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

   

   จิตคหบดีเป็นชาวเมืองมัจฉิกาสัณฑะ แคว้นมคธ วันที่ท่านเกิดมีปรากฏการณ์ประหลาด คือ มีดอกไม้หลากสีตกลงทั่วเมือง ซึ่งเป็นนิมิตหมายแห่งความวิจิตรสวยงาม ท่านจึงได้นามว่า จิตตกุมาร แปลว่า กุมารผู้น่าพิศวงหรือกุมารผู้ก่อให้เกิดความวิจิตรสวยงาม บิดาของท่านเป็นเศรษฐีท่านจึงได้เป็นเศรษฐีสืบต่อมาจากบิดา ในวงการพระพุทธศาสนาเรียกท่านว่า จิตตคหบดี ก่อนที่จะมานับถือพระพุทธศาสนาท่านมีโอกาสพบพระมหานามะ (หนึ่งในปัญจวัคคีย์) เห็นท่านสงบสำรวมน่าเลื่อมใสมาก จึงมีความศรัทธานิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน และได้สร้างที่พำนักแก่ท่านในสวนชื่อ อัมพาฏการาม นิมนต์ให้ท่านอยู่เป็นประจำ พระมหานามะได้แสดงธรรมให้จิตตคหบดีฟังอยู่เสมอ วันหนึ่งได้แสดงเรื่อง อายตนะ 6 (สื่อสำหรับติดต่อโลกภายนอก 6 ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หลังจบธรรมเทศนา จิตตคหบดีได้บรรลุ อนาคามิผล จิตตคหบดีเอาใจใส่พิจารณาธรรมอยู่เนือง ๆ จนแตกฉาน มีความสามารถในการอธิบายธรรมได้ดี ความสามารถของท่านในด้านนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ท่านเป็นผู้มีใจบุญได้ถวายทานอย่างประณีตมโหฬารติดต่อกันครึ่งเดือนก็เคยมี เคยพาบริวารสองพันคนบรรทุกน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น จำนวนมากถึง 500 เล่มเกวียน ไปถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ความเป็นผู้มีมีศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ของจิตตคหบดีได้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ดังเช่นคราวหนึ่ง ท่านป่วยหนึก พวกเทวดามาปรากฏต่อหน้าท่าน พร้อมกับบอกว่า คนมีศีลมีธรรมอย่างท่าน ถึงตายไปก็ย่อมไปดี แม้ปรารถนาจะเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในชาติหน้าก็ย่อมได้ จิตตคหบดีตอบว่า “แม้ราชสมบัติก็ไม่จีรัง เราไม่ต้องการ” บรรดาบุตรหลานที่เผ้าไข้อยู่ได้ยินจิตตคหบดีพูดอยู่คนเดียว จึงกล่าวเตือนว่า “ตั้งสติให้ดี อย่าเพ้อเลย” ท่านบอกบุตรหลานว่า มิได้เพ้อ เทวดามาบอกให้ปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรด์ แต่ท่านบอกพวกเขาไปว่าท่านไม่ต้องการ ยังมีสิ่งอื่นที่ประเสริฐกว่าความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอีก เมื่อบุตรหลานถามว่า สิ่งนั้นคืออะไร จิตตคหบดีตอบว่า “ศรัทธาความเชื่อที่ไม่คลอนแคลนในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ประเสริฐกว่าสิ่งใดทั้งหมด”

 

คุณธรรมที่ถือเอาเป็นแบบอย่าง

 

1. เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาธรรม จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้เก่งในการแสดงธรรมและการสั่งสอนธรรม ท่านเป็นคนฉลาดมีเหตุผลในการให้คำอธิบายหลักธรรมต่าง ๆ ที่เชื่อกันผิด ๆ ให้กลับเข้าใจในทางที่ถูกต้องได้

 

2. เป็นคนใจบุญ อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยศรัทธามั่นคง พบพระสงฆ์ก็ทำบุญถวายทาน สร้างวัดถวาย เป็นต้น

 

3. มีศรัทธาตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย โดยมีศรัทธาความเชื่อที่ไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย มากกว่าการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

 

4. เป็นแบบอย่างของอุบาสกที่ดี คือฟังธรรมตามโอกาส บรรยายธรรมตามโอกาส ปกป้องพระพุทธศาสนาเมื่อมีนักบวชในศาสนาอื่นจาบจ้วง และปกป้องด้วยสติปัญญา ความสามารถ โดยไม่กล่าวร้ายตอบโต้

 

 

พระธัมมทินนาเถรี

 

 

   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

   

 

 

 

 

 

    พระธรรมทินนาเถรีเป็นชาวเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญวัยแล้วได้เป็นภริยาของท่านวิสาขเศรษฐี ผู้สหายของพระเจ้าพิมพิสาร วิสาขเศรษฐีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรกพร้อมกันกับพระเจ้าพิมพิสาร ได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่วันนั้น ต่อมาวันหนึ่ง ท่านเศรษฐีได้รับฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุอนาคามิผล ปกติพระอริยบุคคลระดับอนาคามีละความต้องการทางเพศได้แล้ว วันนั้น นางธรรมทินนาไม่ทราบว่าสามีบรรลุอนาคามิผลแล้ว เมื่อเห็นสามีกลับมาถึงบ้าน ยืนอยู่หัวบันไดก็ยื่นมือส่งให้หมายจะให้สามีเกาะ ปรากฏว่าสามีไม่เกาะและไม่พูดว่าอะไร สร้างความสงสัยให้แก่นางมาก เมื่อสามีรับประทานอาหารอิ่มแล้ว นางไม่สบายใจคิดว่าตนเองทำอะไรผิดสามีคงโกรธจึงสอบถามดู เมื่อท่านวิสาขเศรษฐีอธิบายให้ฟังถึงสาเหตุไม่แตะต้องกายเธอ และบอกว่านับแต่บัดนี้ไปเธอประสงค์ทรัพย์เท่าใด จงรับเอาไปตามใจชอบแล้วกลับไปครอบครัวเดิมเสียเถิด นางธรรมทินนาจึงบอกสามีว่าถ้าเช่นนั้นฉันขออนุญาตไปบวชเป็นภิกษุณี สามีก็อนุญาต และเพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยา วิสาขเศรษฐีจึงขอพระราชทานวอทองจากพระเจ้าพิมพิสารแห่นางรอบเมืองอย่างสมเกียรติ

 

เมื่อนางธรรมทินนาบวชแล้วก็ลาอุปัชฌาย์อาจารย์ไปปฏิบัติธรรมในป่าซึ่งอยู่ต่างเมือง อีกไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้วก็กลับมาโปรดอดีตสามีและญาติมิตร จึงไปบิณฑบาตทางบ้านเดิมของตน วิสาขเศรษฐีอดีตสามีพบท่านจึงนิมนต์ไปฉันภัตตาหารพลางคิดว่า พระเถรีคงอยากจะสึกจึงลองถามปัญหากับพระเถรี พระเถรีตอบได้อย่างถูกต้องและแจ่มแจ้งจนหมดปัญญาที่จะถามต่อ จึงรู้แน่ว่าพระเถรีได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว จึงมีความยินดียิ่งและกล่าวอนุโมทนาพระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระธรรมทินนาเถรีว่าเป็นยอดทางด้านธรรมกถึก มีปัญญาเฉลียวฉลาดแสดงธรรมได้อย่างแตกฉาน

 

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

 

1. เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระธรรมทินนาเถรีก่อนออกบวชนั้น เมื่อได้ทราบว่าวิสาขเศรษฐีผู้สามีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้บรรลุธรรมแล้ว จึงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ใคร่จะออกบวช จึงขออนุญาตสามีซึ่งสามีก็อนุญาตให้บวชได้ตามความประสงค์

 

2. เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เมื่อพระเถรีได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็หวลระลึกนึกถึงวิสาขาเศรษฐีพร้อมด้วยหมู่ญาติ ก็ได้ เดินทางกลับบ้านเดิมเพื่อแสดงธรรมโปรดวิสาขเศรษฐีและหมู่ญาติได้ให้รับผลอันเกิดจากการฟังธรรม แสดงถึงความที่พระ เถรีมีความกตัญญูอย่างแท้จริง

 

3. เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถแสดงธรรมได้อย่างแตกฉาน ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านธรรมกถึก จึงสมควรที่จะถือเป็นแบบอย่างที่ดี

 

คลังความรู้

bottom of page